๓.๑๐.๕๐

ความฉลาดทางอารมณ์(EQ)ฝึกฝนได้



ความฉลาดของคนเราไม่ได้ขึ้นอยู่แค่เพียงการมีมันสมองที่เป็นเลิศสามารถรับรู้เรียนรู้สิ่งต่างๆได้เร็วกว่าคนทั่วไปเท่านั้น หากแต่ความฉลาดของคนเราต้องประกอบเข้ากับความฉลาดทางอารมณ์ด้วย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำคู่มือความรู้เพื่อพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในเด็กอายุ 3 -11ปีขึ้นมาเป็นแนวทางในการเลี้ยงลูกให้สำหรับพ่อแม่/ผู้ปกครองไว้ศึกษาเรียนรู้อย่างยิ่ง

ว่ากันว่าคนเราไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ หรือต่อให้คนฉลาดแค่ไหนก็ทำส่งผิดพลาดได้ทั้งนั้น ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ดังนั้นหากในจุดเริ่มต้นในชีวิตของเด็ก เขาได้รับการอบรมสั่งสอนและการแนะนำที่ดีจากพ่อแม่แล้วเมื่อโตขึ้นเขาสามารถเลือกแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างฉลาด โดยหลักการสำคัญในการอบรมสั่งสอนและการแนะนำมีดังนี้

1. หากจะสอนอะไร พยายามสอนตอนลูกอารมณ์ดีและสอนแบบการพูดคุย ถามความรู้สึกและเหตุผลของเขา ลูกจะฟังได้มากกว่า
2. ให้โอกาสลูกได้เรียนรู้ความผิดพลาด หากเห็นว่าลูกทำอะไม่ถูกต้องหรือผิดพลาด ถ้าสิ่งนั้นไม่ใช่ความผิดพลาดรุนแรงที่จะส่งผลเสียหายอะไร พ่อแม่ไม่ควรเข้าไปขัดขวางการกระทำของลูกทันที เพราะจะเป็นการขัดขวางการเรียนรู้ตามธรรมชาติ ทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้ในการเผชิญปัญหา และแก้ไขปัญหาต่าง ๆด้วยตนเอง เขาจะรู้สึกว่าต้องคอยพึ่งพาพ่อแม่ ยิ่งกว่านั้นการที่พ่อแม่ไม่ให้เด็กทำอะไรเอง ก็เท่ากับเป็นการอบรมลูกว่าลูกไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ และพ่อแม่ไม่เชื่อถือในตัวลูกเด็กจึงรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ดังนั้นควรปล่อยให้เด็กทำอะไรเองบ้างแม้ว่าเขาอาจทำไม่ดี ไม่เรียบร้อย หรือผิดพลาด แต่เด็กจะได้เรียนรู้ความผิดพลาดนั้น
3. อย่ามองข้ามปัญหาที่ดูเหมือนเล็ก ๆ น้อย ๆ ควรแก้ไขตั้งแต่ต้น มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาต่อเนื่องเป็นลูกโซ่และกลายเป็นปัญหาใหญ่ในที่สุด เช่น พ่อแม่ไม่ว่าอะไรที่ลูกแอบหยิบเงินเล็กน้อยในกระเป๋าของพ่อแม่โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นการบ่มเพาะนิสัยการลักเล็กขโมยน้อย
ทักษะการให้รางวัลแรงเสริม
เมื่อพ่อแม่อยากให้ลูกทำอะไรก็ตามต้องจูงใจด้วยการให้การเสริมแรงทางบวก วิธีการให้รางวัลเป็นกลยุทธ์ที่ดีในการเสริมแรงให้ลูกปฎิบัติในทางที่ชอบ โดยมีเทคนิคในการให้รางวัลดังต่อไปนี้
1. ให้รางวัลอะไร รางวัลควรเป็นสิ่งที่เด็กชอบและสนใจ เด็กวัย 4-5 ปี อาจจะชอบของเล่น แต่เด็กวัย 5-6 ปี ต้องการคำยกย่องชมเชย การให้ความสนใจ เด็ก เด็กเล็กอาจจูงใจด้วยการให้รางวัลเป็นวัตถุสิ่งของก่อน แต่พอโตขึ้นหน่อย ก็งดรางวัล ที่เป็นวัตถุและให้รางวัลด้วยการยกย่อง ชมเชยแทน
2.ให้รางวัลกรณีใดบ้าง พ่อแม่ควรให้รางวัลลูกใน 2 กรณี คือ
-เมื่อพ่อแม่พบว่า ลูกทำได้ไม่ดีนัก ซึ่งมักมีสาเหตุจากการขาดแรงเสริม พ่อแม่ควรกำหนดรางวัล โดยการตกลงกับลูกไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าเขาทำอะไรตามที่พ่อแม่ต้องการเขาจะได้รับอะไร และเมื่อเขาทำได้พ่อแม่ต้องให้ทันที เช่น หากเขาทำการบ้านเสร็จเรียบร้อยได้ทุกวัน โดยพ่อแม่ไม่ต้องเตือนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ พ่อแม่จะพาไปทานข้าวนอกบ้านในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ เป็นต้น
-เมื่อเด็กมีการปฏิบัติดีอยู่แล้วพ่อแม่ต้องการให้ปฏิบัติมากขึ้น บ่อยครั้งขึ้น ก็ตั้งรางวัลให้ หรือหยิบจุดที่เป็นความเพียรพยายามออกมายกย่องย่อมจะเป็นแรงเสริมให้ลูกสร้างนิสัยนั้นอย่างยั่งยืน เช่น ชมเชยว่า "ลูกรน่ารักมากที่รู้จักเก็บของเข้าที่ทุกวัน"
-เมื่อพ่อแม่เห็นชอบและซาบซึ้งในการกระทำใด ๆ ควรยกย่องชมเชยทันที จะเป็นรางวัลทางด้านจิตใจซึ่งมีค่ามากกว่ารางวัลวัตถุมากมาย
3. พ่อแม่ควรปฏิบัติอย่างไร พ่อแม่ควรให้รางวัลชมเชยในพฤติกรรมที่เด่นชัด และเป็นพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้ เช่น การที่ลูกช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านการแบ่งของเล่นให้เพื่อน การแสดงพฤติกรรมทางบวกใดก็ตามที่ตรงข้ามกับพฤติกรรมทางลบท่พ่อแม่ไม่ชอบ พ่อแม่ต้องสังเกตการพัฒนาของลูกและให้รางวัลตอบแทนการทำความดีไม่ใช่การติดสินบนแลกเปลี่ยนที่เด็กไม่กระทำความผิด และการให้รางวัลต้องให้ทันทีที่เด็กแสดงพฤติกดรรมท่ชอบไม่ใช่รอไปชมในวันพรุ่งนี้
และต้องให้อย่างสม่ำเสมอแม้จะเป็นสิ่งที่ลูกปฏิบัติซ้ำ สิ่งที่ควรให้บ่อย ๆ พ่อแม่อย่าประหยัดคำยกย่อง ชมเชยลูกด้วยเกรงว่าลูกจะเหลิง ที่จริงความดีงามนั้นถ้าเด็กยิ่งรู้สึกว่าพ่อแม่มองเห็น เขาจะยิ่งปฏิบัติบ่อยขึ้น



ไม่มีความคิดเห็น: